ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกเกอร์ค่ะ

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เมืองพะเยา

สวัสดีค่ะ !

           บล็อกแนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดพะเยานี้ จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการเรียนการสอนของรายวิชา GEN1102 เทคโนโลยีสารสนเทศ  Section AF  จัดทำโดย นางสาวกนกรัตน์ เทพน่าน รหัสนักศึกษา 581755002 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย




ประวัติความเป็นมาของจังหวัดพะเยา


                พะเยาเป็นเมืองประวัติศาสตร์เดิมมีชื่อว่า”เมืองภูกามยาวหรือพยาว”เคยมีเอกราชสมบูรณ์มีกษัตริย์ปกครองสืบราชสันตติวงศ์มาปรากฎตามตำนานเมืองพะเยา ดังนี้ 
              พุทธศักราช 1602 (จุลศักราช421) พ่อขุนเงินหรือลาวเงินกษัตริย์ผู้ครองนครเงินยางเชียงแสนได้ให้ขุนจอมธรรมโอรสองค์ทรง 2 ให้ปกครองเมืองภูกามยาว ซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ขุนจอมธรรมครองเมืองภูกามยาวได้ 24ปี ก็สิ้นพระชนม์ขุนเจื่องโอรสได้ขึ้นครองราชย์แทนใน  ขณะครองเมืองได้รวบรวมลี้พลไปช่วยเมืองนครเงินยาง ของขุนชินผู้เป็นลุงจนรอดพ้นจากการรุกรานของแกวหรือญวนได้สำเร็จ ขุนชินทรงโสมนัสยิ่งนักจึงยกธิดาชื่อ พระนางอั๊วคำ สอนให้และสละราชสมบัติให้แก่ขุนเจื่องเมื่อขุนเจื่องได้ครองเมืองเงินยางแล้วจึงให้โอรสชื่อว่า”ลาวเงินเรือง”ขึ้นครองเมืองพะเยาแทนท้าวลาวเงินเรืองครองเมืองพะเยาได้๑๗ปีก็สิ้นพระชนม์ ขุนแดงโอรสครองราชย์ต่อมาเป็นเวลา7 ปีขุนชองซึ่งเป็นน้าก็แย่งราชสมบัติและได้ครองเมืองพะเยาประมาณ 20ปีและมีผู้ครองราชย์สืบต่อมาจนถึงพระยางำเมืองกษัตริย์เมืองพะเยาองค์ที่9 ซึ่งเป็นราชบุตรของพ่อขุนมิ่งเมือง เมื่อพระชนมายุได้16ชันษา พระบิดาส่งไปศึกษาที่สำนักสุกันตฤาษีเมืองลพบุรี  จึงได้รู้จักกับพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยโดยได้ศึกษาศิลปศาสตร์จากอาจารย์เดียวกันและทรงเป็นสหายกันตั้งแต่นั้นมา เมื่อเรียนจบก็เสด็จกลับเมืองพะเยาปีพุทธศักราช1310 พ่อขุนมิ่งเมืองพระราชบิดา  สิ้นพระชนม์จึงได้ขึ้นครองราชย์แทน  ต่อมาพ่อขุนเม็งรายได้ยกทัพมาประชิดเมืองพะเยา  พ่อขุนงำเมืองสั่งให้ไพร่พลอยู่ในความสงบและได้ให้เสนาอำมาต์ออกต้อนรับโดยดีพระองค์ได้ยกเมืองชายแดนบางเมืองให้แก่พ่อขุนเม็งรายเพื่อเป็นการสงบศึกและทั้งสองพระองค์ยังได้ทำสัญญาเป็นมิตรต่อกันตลอดไปพระยาร่วงซึ่งเป็นสหายสนิทได้เสด็จมาเยี่ยมเยือนพ่อขุนงำเมืองเป็นประจำทุกปีและได้มีโอกาสรู้จักพ่อขุนเม็งรายทั้งสามพระองค์ทรงเป็นพระสหายสนิทกันมากถึงกับได้หันหลังพิงกันพร้อมกับทำสัจจปฏิญาณ แก่กัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำกู(แม่น้ำอิง) ว่าจะไม่ผูกเวรแก่กันจะเป็นมิตรสหายที่ดีต่อกันและได้กรีดโลหิตออกรวมกันในขันผสมน้ำดื่มพร้อมกัน เมื่อปีพุทธศักราช1816 พ่อขุนงำเมืองสิ้นพระชนม์ลงขุนคำแดงและขุนคำลือได้สืบราชสมบัติต่อมาตามลำดับ ในสมัยขุนคำลือนี้เองที่เมืองพะเยาต้องเสียเอกราชไปพระยาคำฟู แห่งนครชัยบุรีศรีเชียงแสนได้ร่วมกับพระยากาวเมืองน่านยกทัพมาตีเมืองพะเยาพระยาคำฟูตีเมืองพะเยาได้ก่อนและได้เกิดขัดใจกับพระยากาวทำให้เกิดการสู้รบพระยาคำฟูเสียทีจึงยกทัพกลับเชียงแสน  เมืองพะเยาจึงได้รวมอยู่กับอาณาจักรล้านนาตั้งแต่นั้นมาพุทธศักราช 2386  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปางหลังจากนั้นก็ได้มีผู้ครองเมืองพะเยาต่อมาอีกหลายท่านจนถึงปีพุทธศักราช2457 ได้ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองแล้วใช้ตำแหน่งนายอำเภอแทนพะเยาจึงมีฐานะเป็นอำเภอพะเยาต่อมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2520 พะเยาจึงได้รับการยกฐานะจากอำเภอพะเยา ขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา

อ้างอิง : https://sites.google.com/site/attractioninphayaoprovince/attraction-in-phayao-province/home

สัญลักษณ์


ตราประจำจังหวัด


รูปพระเจ้าตนหลวงวัดศรีโคมคำ

             พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ พระพุทธรูปคู่เมือง อันเป็นหลักรวมใจของชาวพะเยา
ลายกนกเปลว บนพื้นเบื้องหลังองค์พระพุทธรูป หมายถึง ความรุ่งเรืองของ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ดอกคำใต้ แม่ใจ เชียงคำ เชียงม่วน ปง และจุน
เบื้องล่างริมของดวงตราเป็น กว๊านพะเยา ซึ่งมีชื่อเสียง เป็นรู้จักกันดี และมี ช่อรวงข้าว ประกอบอยู่ทั้งสองข้าง ซึ่งหมายถึง ลักษณะของความเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ
ที่มา : ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482

ธงประจำจังหวัด



สีบานเย็น หมายถึง ภูมิภาคมณฑลพายัพ
สีฟ้า หมายถึง สภาพภูมิอากาศเยือกเย็น และความมีน้ำใจโอบอ้อมอารีต่อผู้ไปเยี่ยมเยือน
สีเหลือง หมายถึง เป็นดินแดนที่รุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุขในร่มเงาพระบวรพุทธศาสนา
สีเขียว หมายถึง ความสดชื่นงอกงามแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร

ดอกไม้ประจำจังหวัด

ชื่อพรรณไม้ :สารภี
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Mammea siamensis (T. Anderson ) Kosterm.
ความเป็นมา :เนื่องจาก เมื่อ วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 รัฐบาลได้จัดงานวันรณรงค์โครงการ ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองราชย์ ปีที่ 50 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยกราบบังคับทูลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นองค์ประธาน และมีหมายกำหนดการพระราชทานพันธุ์ไม้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อนำไปปลูกเป็นสิริมงคลในท้องที่จังหวัดนั้น ๆ จังหวัดพะเยาได้กำหนด "ต้นสารภี" เป็นชื่อไม้มงคลเข้าร่วมงานด้วย และถือเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดตั้งแต่นั้นมา ถือได้ว่า ปี พ.ศ. 2537 เป็นปีที่ประกาศให้ไม้ชนิดนี้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัด
ที่มา : สาระน่ารู้ เรื่อง ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด ส่วนเพาะชำกล้าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้

คำขวัญ

คำขวัญประจำจังหวัดพะเยา" กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต ศักดิ์สิทธิ์พระเจ้าตนหลวง บวงสรวงพ่อขุนงำเมือง งามลือเลื่องดอยบุษราคัม "
คำขวัญประจำอำเภอเชียงคำ" เมืองแห่งธรรมะ     มีพระนั่งดิน
ถิ่นทอน้ำไหล    ผ้าไทลื้อ
น้ำตกเลื่องลือ    คะแนงน้ำมิน
ป่าไม้พื้นดิน    อุดมสมบูรณ์ "
คำขวัญประจำอำเภอจุน" พระธาตุขิงแกง     แหล่งปลาค้าว
ค่าวหงส์หิน    ถิ่นเวียงลอ
พืชผลเกษตรเพียงพอ    ข้าวก่ำงาม "
คำขวัญประจำอำเภอดอกคำใต้" ดอกคำใต้เมืองคนงาม     วัฒนธรรมหลากหลาย
มากมายหัตถกรรม    พระธาตุงามจอมไคร้
ล่องช้างแหล่งอาศัย    มากน้ำใจชาวประชา "
คำขวัญประจำอำเภอแม่ใจ" พระเจ้าทองทิพย์คู่ถิ่น     แหล่งทำกินหนองเล็งทราย
มากมายสวนลิ้นจี่    รสดีมะพร้าวเผา "
คำขวัญประจำอำเภอเชียงม่วน" โบราณสถานท่าฟ้า     ฝั่งต้าไชยสถาน
ธารสวรรค์    บ่อเบี้ย
ล่องเรือแก่งหลวง    บวงสรวงพระธาตุภูปอ "
คำขวัญประจำอำเภอปง" พระธาตุดอยหยวกคู่เมือง     นามลือเลื่องภูลังกา
รักสัตว์ป่าดอยผาช้าง    ถ้ำผาตั้งตระการตา
ตาดซาววางามล้ำเลิศ    แหล่งกำเนิดแม่น้ำยม "
คำขวัญประจำอำเภอภูซาง" เชียงแลงเมืองโบราณ     อุทยานน้ำตก
มรดกไทลื้อ    เลื่องลือหอมกระเทียม
หวานเยี่ยมน้ำอ้อยสบบง    สูงส่งถิ่นพระธาตุ
เยี่ยมตลาดไทยลาว    แดนสาวงามนามภูซาง "
คำขวัญประจำอำเภอภูกามยาว" ภูกามยาวดอยงาม     ดินแดนสามพระธาตุ
ประวัติศาสตร์เมืองเก่า    อู่ข้าวลุ่มน้ำอิง "
     อ้างอิง : http://www.phayao.go.th/pyodetail.php?p=sign

การเดินทาง

แผนที่จังหวัดพะเยา



การเดินทาง
รถยนต์ สามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง
  • เส้นทางที่ 1 ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 สายเอเซีย ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1 ที่นครสวรรค์ ผ่านอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดตาก ผ่านอำเภอเถิน อำเภอสบปราบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง จากลำปางไปพะเยาจะเป็นเส้นทางตัดผ่านภูเขาจะมีทางโค้งมากแต่ไม่ชันให้ใช้ความระมัดระวัง เมื่อออกจากแนวภูเขาจะเข้าสู่ตัวเมืองพะเยา ระยะทาง 755 กิโลเมตร โดยรวมแล้วเส้นทางนี้ถนนจะกว้างกว่าเส้นทางที่ 2 แนะนำเส้นทางนี้ครับ
  • เส้นทางที่ 2 ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 สายเอเซีย ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และนครสวรรค์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 117 จนถึงจังหวัดพิษณุโลก แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 12 ไปจนถึงสุโขทัย เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 103 ผ่านอำเภอร้องกวาง เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านอำเภองาว เข้าสู่ตัวเมืองพะเยา ระยะทาง 782 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะขึ้นเขาตรงจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นถนน 4 เลน (ไป 2 กลับ 2) รถบรรทุกที่ใช้เส้นทางนี้จะขับช้าตอนขึ้น/ลงเขา ทำให้ไม่สามารถทำความเร็วได้ในช่วงนี้
  • เส้นทางที่ 3 สามารถเดินทางเป็นวงรอบได้โดยใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-เด่นชัย-แพร่-ร้องกวาง-พะเยา ระยะทาง 782 กิโลเมตร ขากลับใช้เส้นทางพะเยา-เชียงราย-แม่สรวย-เวียงป่าเป้า-ดอยสะเก็ด-เชียงใหม่-ลำปาง-ตาก-กรุงเทพฯ ระยะทาง 966 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง
รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารปรับอากาศและรถธรรมดาออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 สอบถามได้ที่ โทร. 0 2576 5599 www.transport.co.th หรือ บริษัทรถเอกชน สยามเฟิร์สทัวร์ โทร. 0 2954 3601 สมบัติทัวร์ โทร. 0 2936 2495-9 บริษัท ขนส่ง จำกัด พะเยา โทร. 0 5443 1363, 0 5443 1488
จากเชียงใหม่มีรถโดยสารประจำทางทั้งธรรมดา และปรับอากาศไป-กลับจังหวัดพะเยาทุกวัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สถานีขนส่งอาเขตเชียงใหม่ ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ โทร. 0 5324 1440, 0 5324 2664

รถไฟ จากสถานีรถไฟหัวลำโพง สามารถนั่งรถไฟลงที่สถานีลำปาง หรือ เชียงใหม่ แล้วต่อรถโดยสารไปจังหวัดพะเยา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2220 4334, 0 2220 4444 หรือ www.railway.co.th
เครื่องบิน ไม่มีเครื่องบินบินตรงไปจังหวัดพะเยา ต้องใช้เส้นทางบินกรุงเทพฯ-เชียงราย แล้วเช่าเหมารถมายังจังหวัดพะเยา สอบถามเที่ยวบินได้ที่ สายการบินไทย โทร. 1566, 0 2628 2000 www.thaiairways.com
  • สายการบิน แอร์ เอเชีย โทร. 0 2515 9999 หรือ www.airasia.com
  • สายการบิน โอเรียนท์ ไทย โทร. 1126 หรือ www.fly12go.com

อ้างอิง : http://www.folktravel.com/archive/phayao.html#sthash.We3QWhFu.dpuf

ข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดพะเยา

ข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดพะเยา



สภาพทั่วไป

ตั้งอยู่ภาคเหนือของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพมหานคร 735 กม. ลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าเขา ที่ราบสูง มีระดับความสูงตั้งแต่ 300 – 1,550 เมตรจากระดับน้ำทะเล นอกนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่่เป็นที่ราบ
ลักษณะภูมิอากาศเนื่องจากมีป่าไม้และภูเขาล้อมรอบจึงทำให้อากาศหนาวมากในฤดูหนาวและอากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อน มีเทือกเขาสำคัญ คือ เทือกเขาผีปันน้ำ มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำอิง แม่น้ำยม และแม่น้ำลาว

ที่ตั้งและอาณาเขต

จังหวัดพะเยา เป็นจังหวัดชายแดน ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย มีเขตระหว่าง
เส้นรุ้งที่ 18 องศา 44 ลิปดาเหนือ ถึง 19 องศา 44 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 40 ลิปดาตะวันออก ถึง 100 องศา 40 ลิปดาตะวันออก โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดเขต อ. พาน อ. ป่าแดด อ. เทิง จ.เชียงราย
ทิศใต้ ติดเขต อ. งาว จ. ลำปาง และ อ. สอง จ. แพร่
ทิศตะวันออก ติดเขต แขวงไชยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ อ. ท่าวังผา อ. บ้านหลวง อ. สองแคว จ. น่าน
ทิศตะวันตก ติดเขต อ. งาว  อ. วังเหนือ  จ. ลำปาง 

ลักษณะภูมิประเทศ

             สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดพะเยา เป็นที่ราบสูงและภูเขา มีระดับความสูงตั้งแต่ 300-1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีเทือกเขาอยู่ทางทิศตะวันตก ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้และตอนกลางของพื้นที่จังหวัด มีเนื้อที่ประมาณ 6,335.06 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,959,412 ไร่ มีพื้นที่ขนาดใหญ่ เป็นลำดับที่ 15 ของภาคเหนือและมีพื้นที่ป่าไม้ (จากภาพถ่ายดาวเทียม ปี 2542) ประมาณ 1,503,174 ไร่ หรือร้อยละ 37.96 ของพื้นที่จังหวัด สภาพเป็นป่าดงดิบและป่าไม้เบญจพรรณ ไม้ที่สำคัญ ได้แก่  ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้มะค่า ไม้ชิงชัน ไม้ยาง ไม้เต็ง ไม้รัง ฯลฯ จังหวัดพะเยามีพื้นอยู่ทั้งในที่ลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนที่อยู่ในลุ่มน้ำโขง คือพื้นที่อำเภอเมือง อ.ดอกคำใต้ อ.จุน อ.ปง(บางส่วน) อ.เชียงคำ และ อ.แม่ใจ ส่วนที่อยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ อ.ปง และ อ.เชียงม่วน ซึ่งเป็นต้นกำหนิดของแม่น้ำยม
            เทือกเขาที่สำคัญ ได้แก่ ดอยภูลังกา ดอยสันปันน้ำ ดอยแม่สุก ดอยขุนแม่แฝก ดอยขุนแม่ต๋ำ ดอยขุนแม่ต๋อม

ลักษณะภูมิอากาศ

แบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู คือ
1. ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือน มีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนจัดในเดือน พฤษภาคม อุณหภูมิวัดได้ 39.5 องศา 
2. ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม ฝนตกหนาแน่นในเดือนพฤษภาคม ฝนตกตลอดปีประมาณ 1,043.9 มม. มีวันฝนตก 101 วัน
3. ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวจัดในเดือนพฤศจิกายน และ มกราคม อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 10.8 องศา ในเดือนธันวาคม

การปกครอง

            ประกอบด้วย 9 อำเภอ คือ อ.เมืองพะเยาอ.เชียงคำอ.เชียงม่วนอ.ปงอ.ดอกคำใต้, อ.จุนอ.แม่ใจอ.ภูซาง และ อ.ภูกามยาว แบ่งเป็น 68 ตำบล 805  หมู่บ้าน

การปกครองท้องถิ่น

            - องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง
            - เทศบาลเมือง 1 แห่ง
            - เทศบาลตำบล 11 แห่ง
            - องค์การบริหารส่วนตำบล 59 แห่ง

ประชากร

            จำนวนประชากร เดือนมิถุนายน ปี 2549 มีทั้งสิ้น 486,348 คน เป็นชาย 239,731 คน เป็นหญิง 246,617 คน จำนวนครัวเรือน  163,761 ครัวเรือน
            มีบนพื้นที่สูงอาศัยอยู่กระจัดกระจายตามบริเวณเทือกเขาสูง ได้แก่ เผ่าลื้อ เผ่าเย้า เผ่าแม้ว เผ่าลีซอ และเผ่าถิ่น จำนวน 45 หมู่บ้าน 2,658 ครัวเรือน
            โดยกระจายอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ เช่น อ.เมืองพะเยา อ.ปง  อ.เชียงคำ  อ.เชียงม่วน  อ.แม่ใจ  อ.ภูซาง และ อ.ดอกคำใต้ 

การเกษตร

ในปี 2548 จังหวัดพะเยามีพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งสิ้น ประมาณ 410,825 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 431,643 ตัน  
มีพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ ประมาณ 358,069 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 277,905 ตัน
พื้นที่ปลูกยางพารา ประมาณ 55,809 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 37,808 ตัน
มีเนื้อที่ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ประมาณ 116,167 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 229.76 ตัน
อาชีพหลักของประชากร คือ การทำนา
พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย และยางพารา

ผลิตภัณฑ์จังหวัด

            มูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดพะเยา ตามราคาตลาด พ.ศ. 2548 จากข้อมูลของ
สำนักงานคลังหวัดพะเยามูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัด เป็นเงิน 18,884 ล้านบาท และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 37,315 บาทต่อปี นับเป็นรายได้เฉลี่ยต่อหัว ลำดับที่ 15 ของภาค ลำดับที่ 57 ของประเทศ
            สาขาที่มูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดมากที่สุดคือ สาขาการเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ 5,139 ล้านบาท
            สาขาที่มูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดรองลงมาคือ สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมแซม
ยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล และของใช้ในครัวเรือน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ 3,656 ล้านบาท

การศึกษา

            ในปีการศึกษา 2549 จังหวัดพะเยา
                        มีสถานศึกษา จำนวน 347 แห่ง
                        มีนักเรียน/นักศึกษา รวมจำนวน 124,474 คน แยกเป็น
                        ในระบบโรงเรียน 95,534 คน  
                        นอกระบบโรงเรียน 28,940 คน

การสาธารณสุข

            ในปี 2549 จังหวัดพะเยา
                        มีโรงพยาบาลของรัฐ จำนวน 8 แห่ง
                        มีโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 1 แห่ง
                        มีเตียงคนไข้ จำนวน 808 เตียง (เฉลี่ยเตียงคนไข้ 1 เตียงต่อประชากร 584 คน)
                        มีแพทย์ จำนวน 92 คน (เฉลี่ยแพทย์ 1 คนต่อประชากร 5,451 คน)
                        มีทันตแพทย์ จำนวน 21 คน (เฉลี่ยทันตแพทย์ 1 คนต่อประชากร 23,881 คน)
                        มีพยาบาล จำนวน 1,001 คน (เฉลี่ยพยาบาล 1 คนต่อประชากร 501 คน)
                        มีสถานีอนามัย จำนวน 94 แห่ง
                        มีคลินิคทุกประเภท จำนวน 60 แห่ง

การสารณูปโภค

                        ไฟฟ้า ในปี 2549 จังหวัดพะเยา มีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้า 130,610 ราย
                        ประปา ในปี 2549 จังหวัดพะเยา
                        มีการประปาพะเยา-ดอกคำใต้ มีโรงกรองน้ำ จำนวน 2 แห่ง โดยใช้น้ำจากกว๊านพะเยา
                        ปัจจุบันให้บริการ น้ำสะอาดแก่ชุมชนเมืองพะเยา และ อ.ดอกคำใต้
                        มีการประปาจุน จำหน่ายน้ำ 3 เขต คือ อ.จุน อ.ปง อ.เชียงคำ
                        มีกำลังการผลิตน้ำประปาทั้งสองแห่งประมาณ 7,708,800 ลูกบาศก์เมตร
                        มีจำนวนผู้ใช้น้ำประปา ประมาณ 17,098 ราย

โทรศัพท์

                       ในปี 2549 จังหวัดพะเยา มีหายเลขโทรศัพท์ 37,215 หมายเลข
                        เป็นของบริษัท ทศท.คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) จำนวน 22,079 หมายเลข (มีผู้เช่า จำนวน 29,882 หมายเลข)
                        เป็นของบริษัทสัมปทาน จำนวน 15,136 หมายเลข (มีผู้เช่า จำนวน 13,841 หมายเลข)

การคมนาคมขนส่ง

                       จังหวัดพะเยา ใช้เส้นทางคมานาคมทางบกเป็นหลัก โดยมีเส้นทางคมนาคมติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง กรุงเทพ ฯ และระหว่างอำเภอต่าง ๆ ดังนี้
                       1. ระยะทางจากอำเภอเมืองพะเยา ถึง 2. ระยะทางจากจังหวัดพะเยา ถึง
                                              - อ.ดอกคำใต้ 15 กม. - จังหวัดเชียงราย 94 กม.
                                              - อ.จุน 48 กม. - จังหวัดเชียงใหม่ 134 กม.
                                              - อ.เชียงคำ 76 กม. - จังหวัดลำปาง 137 กม.
                                              - อ.เชียงม่วน 117 กม. - จังหวัดแพร่ 138 กม.
                                              - อ.ปง 79 กม.
                                              - อ.แม่ใจ 24 กม.
                                              - อ.ภูซาง 91 กม.
                                              - อ.ภูกามยาว 18 กม.
                        2.ทางด้านไปรษณีย์ จังหวัดพะเยา มีที่ทำการไปรษณีย์รวม 8 แห่ง (ที่อำเภอเมืองพะเยามี 2 แห่งคือ ที่ทำการไปรษณีย์พะเยา และที่ทำการไปรษณีย์หนองระบู

อ้างอิง : http://www.phayao.go.th/detail.html

แหล่งท่องเที่ยว

 แหล่งท่องทางธรรมชาติ ได้แก่ 

กว๊านพะเยา  



        

      เกิดจาการยุบตัวของเปลือกโลกเมื่อประมาณ 70 ล้านปีมาแล้วเป็นแอ่งน้ำซึ่งเป็นที่รวบรวมของลำห้วยต่างๆ 18 สาย ต่อมาในปี 2478 กรมประมงได้ตั้งสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยาขึ้น บริเวณ ต้นแม่น้ำอิงและสร้างฝายกั้นน้ำทำให้เกิดเป็นบึงขนาดใหญ่ มีความลึกเฉลี่ย 1.5 เมตร คำว่า "บึง" ภาษาพื้นเมือง เรียกว่า "กว๊าน"
                กว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่สุดของจังหวัดพะเยา คือเป็นทั้งแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญที่สุดของภาคเหนือตอนบน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ประมาณ 12,831 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลากราย ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาจีน ปลาไน รวมทั้งปลานิล อันลือชื่อของจังหวัดพะเยา ทัศนียภาพโดยรอบกว๊านพะเยา มีความร่มรื่น สามารถมองเห็นแนวทิวเขาสลับซับซ้อน งดงามมาก บริเวณริมกว๊านมีร้านอาหารและจัดเป็นสวนสาธารณะเหมาะที่จะไปนั่งเล่น พักผ่อนหย่อนใจในยามเย็น ชมพระอาทิตย์ตกริมกว๊านเป็นภาพที่สวยงามมาก

สวนสาธารณะดงหอ




            ป่าชุมชนสวนสาธารณะดงหอ ตั้งอยู่ตำบลหนองหล่ม  มีเนื้อที่ประมาณ 38 ไร่ เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญมีความอุดมสมบรูณ์มีลักษณะเป็นน้ำผุดออกมาตลอดทั้งปีเป็นแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคและใช้ในการเกษตรของชาวตำบลหนองหล่มมีต้นไม้หลากหลายชนิด และสมุนไพรหลายชนิดที่หายาก
เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อคำปวนซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวตำบลหนองหล่มรวมทั้งตำนานช้างปู้ก่ำงาเขียวและมีซากปรักหักพังบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ของตำบลหนองหล่มจึงทำให้สถานที่ดงหอเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์จึงไม่มีใครกล้าลบหลู่
ช่วงเดือนเมษายนของทุกปีจะมีงานบวงสรวงสักการะเจ้าพ่อคำปวนและสืบชะตาแม่น้ำ เพื่อให้ชาวตำบลหนองหล่มได้สำนึกบุญคุณของน้ำที่ใช้ตลอดปี

น้ำตกธารสวรรค์ 





เป็นน้ำตกหินปูนขนาดกลางที่เกิดจากลำห้วยสองสบ ห้วยโป่ง ห้วยอูน และตาน้ำบ่อเบี้ย ไหลลงมารวมกันเป็นห้วยแม่ปั๋ง และตกจากหน้าผาลงมาเป็นน้ำตกธารสวรรค์ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง ประมาณ 300 เมตร มีความสูงประมาณ 20 เมตร กว้างประมาณ 30 เมตร เป็นน้ำตกสองชั้น มีน้ำไหลตลอดปี เสน่ห์ของน้ำตกธารสวรรค์อยู่ตรงที่บรรยากาศกลางแมกไม้ขนาดใหญ่เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจและน้ำมีสีเขียวมรกตสวยงาม น้ำจากน้ำตกไหลผ่านหมู่บ้านที่ตั้งอยู่โดยรอบอุทยานฯ ทำให้ชาวบ้านมีน้ำทำการเกษตร อุปโภค-บริโภค และไหลลงไปสู่แม่น้ำยม ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศ

วนอุทยานแห่งชาติภูซาง



อุทยานแห่งชาติภูซาง อยู่ในเขตอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีอาณาเขตติดต่อประเทศลาว และเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
น้ำตกภูซาง เป็นน้ำตกชั้นเดียว ซึ่งตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างสูงประมาณ 25 เมตร น้ำตกภูซางเป็นน้ำตกที่เป็นกระแสน้ำอุ่น มีอุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซียส
เต่าปูลู เป็นเต่าที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคเหนือตอนบนและแนวเขตติดต่อกับประเทศพม่าและจีนตอนใต้ลักษณะเฉพาะตัวคือเตี้ย กระดองสีเขียวเข้มถึงดำยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ที่เด่นคือ หางเป็นปล้องยาวกว่ากระดอง หดตัว ขาและหางไม่ได้สามารถปีนป่ายได้เก่ง โดยอาศัยเล็บและหางช่วยยัน เต่าปูลูออกหากินเวลากลางคืน บริโภคกุ้ง หอย ปู ปลา ไม่ชอบบริโภคพืช กลางวันมักหลบอยู่ตามซอกหินเย็น ๆ หน้าหนาวจำศีลเหมือนกบ วางไข่ช่วงปลายเดือนเมษายน ครั้งละ 3-4 ฟอง
                 
แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ได้แก่ 

วัดศรีโคมคำ (วัดพระเจ้าตนหลวง)






วัดศรีโคมคำ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ประชาชนทั่วไปเรียกว่า วัดพระเจ้าตนหลวง” ภายวนประดิษฐานพระเจ้าตนหลวงซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนองค์ใหญ่ที่สุดในล้านนา ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔ เมตร สูง ๑๘ เมตร สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๖๗ พระเจ้าตนหลวง หรือ พระเจ้าองค์หลวง มิใช่เป็นแต่เพียงพระพุทธรูปคู่เมืองพะเยาเท่านั้น แต่ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอาณาจักรล้านนาไทยด้วย ในวันวิสาขบูชาของทุกปี จะมีงานประเพณีนมัสการพระเจ้าตนหลวงเดือนแปดเป็ง นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีพระอุโบสถกลางน้ำตั้งอยู่ริมกว๊านพะเยาภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง ลวดลายวิจิตรสวยงาม


หอวัฒนธรรมนิทัศน์ 




  หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ  เป็นสถานที่จัดแสดงงานด้านวัฒนธรรมของจังหวัดพะเยา โดยมีสโลแกนว่า "มาที่เดียว เที่ยวได้ทั้งจังหวัด"
     หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำนี้ เป็นสถานที่ของวัด โดยมีพระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์เป็นผู้ให้กำเนิด และเป็นผู้อำนวยการ จัดสร้างและเปิดทำการเมือวันที่ 18 มกราคม 2539 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเปิดงานอย่างเป็นทางการ

วัดอนาลโยทิพยาราม




"วัดอนาลโยทิพยาราม" อยู่บนดอยบุษราคัม ต.สันป่าม่วง เป็นอุทยานพระพุทธศาสนา มีศาสนสถานที่สวยงามมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ประตูทางเข้าราวบันได ลวดลายแกะสลักรูปปั้น พระพุทธรูปเป็นศิลปะที่งดงามแบบสุโขทัยและล้านนา ทั้งเจ้าแม่กวนอิม พระพุทธชินราชจำลอง พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางลี พระพุทธรูปปางนาคปรก องค์พระแก้วบุษราคัม พระเจดีย์ พุทธคยา จำลองแบบมาจากอินเดีย เป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หอพระแก้วมรกตจำลองสามารถมองเห็นวิวเมืองพระเยาและกว๊านพระเยาสุดสายตา นอกจากนี้วัดอนาลโยทิพยรามยังเป็นวัดประจำปีเกิดของผู้เกิดปีมะเส็งได้แวะมาสักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคงยิ่งอีกด้วย

วัดพระนั่งดิน




วัดพระนั่งดิน อัศจรรย์อันซีนไทยแลนด์ ตั้งอยู่ ตำบลเวียง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นวัดที่องค์พระประธานของวัดไม่มี ฐานรองรับเหมือนกับพระประธานองค์อื่นๆ เคยมีราษฎรสร้างฐานรองรับเพื่ออัญเชิญพระประธานขึ้นประดิษฐานบนฐานรองรับ แต่ปรากฏว่าพยายามยกเท่าไรก็ยกไม่ขึ้น จึงเรียกสืบต่อกันมาว่า พระนั่งดิน นอกจากนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานสืบกันมาว่า เคยมีชาวบ้าน ได้พากันสร้างฐานชุกชีแล้วได้อันเชิญพระเจ้านั่งดินขึ้นประทับ แต่ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ฟ้าได้ผ่าลงมาที่กลางพระวิหารถึง 3 ครา พุทธบริษัททั้งหลายจึงอาราธนาพระเจ้านั่งดินมาประดิษฐานบนพื้นดินดังเดิมตราบจนทุกวันนี้

อ้างอิง : http://www.paiduaykan.com/

ศิลปะ-วัตนธรรม-ประเพณี

ประเพณีไหว้พระธาตุดอยจอมทอง
          วันเเพ็ญเดือน ทุกปี ชาวพะเยาพร้อมใจกันทำบุญไหว้พระธาตุดอยจอมทอง เพราะความเลื่อมใสศรัทธา
ประเพณีไหว้พระเจ้าตนหลวง
          เป็นประเพณีที่ผู้คนมากราบไหว้พระเจ้าตนหลวงอย่างล้นหลาม เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว ในวันเพ็ญเดือน ประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี
ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ         เป็นพิธีขอน้ำขอฝน จากผีประจำขุนเขาที่เป็นต้นน้ำ เพราะเป็นเวลาที่ใกล้จะหว่านข้าวกล้า จะทำในวันปากปีของสงกรานต์เมืองเหนือ วันที่ 16 เมษายน ของทุกปี
ประเพณีไหว้พระธาตุวัดป่าแดง-บุญนาค         เป็นประเพณีที่ชาวพะเยา จะพากันทำบุญตักบาตรสวดมนต์ไหว้พระ เวียนเทียน รักษาศีลภาวนา ในวันเพ็ญเดือน ของทุกปี
ประเพณีลอยกระทง (ประเพณียี่เป็ง)         ตรงกับวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ (เดือนพฤศจิกายน) ประเพณีนี้มี 2 วันคือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ เรียกว่า วันยี่เป็ง เป็นวันขอขมาต่อแม่น้ำคงคา ในช่วงเช้าจะเป็นการทำบุญตักบาตร และมีเทศน์มหาชาติฉบับล้านนา ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงกลางคืนและกลางวัน จะมีการปล่อยโคมลอยขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศก กลางคืนจะมีการลอยกระทงเล็ก บริเวณรอบกว๊านพะเยา
งานประเพณีสลากภัต          โดยจะเริ่มตั้งแต่ วันเพ็ญเดือนสิบสองเหนือ (เดือน 10) ประมาณเดือนกันยายน และจะสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับ (เดือน 11) ชาวบ้านจะนำเอาสิ่งของต่างๆ เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม อาหารเป็นห่อนึ่ง ชิ้นปิ้ง (เนื้อย่าง) หมาก เมี่ยง บุหรี่ รวมใส่ในก๋วย (ตะกร้า) พร้อมกับยอด คือ สตางค์หรือธนบัตรผูกไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธาและทรัพย์ของแต่ละครอบครัว
งานพิธีแห่เทียนเข้าพรรษา           จะตรงกับวันอาสาฬหบูชา หรือวันเพ็ญเดือนแปด (เดือนกรกฎาคม) โดยคณะศรัทธาและหน่วยราชการทุกแห่ง จะรวมกันหล่อเทียนที่แกะสลักอย่างสวยงาม เพื่อนำมาร่วมเป็นขบวนแห่เทียนเข้าพรรษาของแต่ละปี มีการประกวดประชันความสวยงามของเทียน
พิธีเลี้ยงผีหนองเล็งทราย            จะจัดขึ้นวันแรม ค่ำ เดือน เหนือ (เดือน 7) ของทุกปี ณ บริเวณหนองเล็งทราย อ. แม่ใจ ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ เพื่อสร้างจิตสำนึกของชาวบ้านให้รู้จักคุณค่าของแหล่งน้ำและช่วยกันอนุรักษ์
ประเพณีวันดอกคำใต้บาน
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี กลุ่มสตรีทุกระดับจะรวมพลังทำกิจกรรมร่วมกัน มีการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน การจำหน่ายผลผลิตพื้นบ้าน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สตรีทุกคนสำนึกในศักดิ์ศรีของสตรี
งานอนุสรณ์ผู้เสียสละ พ.ต.ท.2324            จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีรชนที่เสียสละชีวิตจากการต่อสู้ระหว่างประชาชน ข้า ราชการ ตำรวจ ทหาร กับพวกคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย งานจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 31 มกราคม ถึง กุมภาพันธ์ บริเวณสนามบินทหาร โดยจะมีพิธีวางพวง มาลาอนุสรณ์ผู้เสียสละ
งานสืบสานตำนานไทยลื้อ             จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคม เพื่อส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไท ลื้อ ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของอำเภอเชียงคำ ในงานมีขบวนแห่วัฒนธรรมที่สวย งาม ในเขตเทศบาลเชียงคำ มีการจำหน่ายอาหารไทลื้อ การสาธิตพิธีกรรม ต่างๆ
งานสักการะบวงสรวง พ่อขุนงำเมือง            เป็นการรำลึกถึงพ่อขุนงำเมือง กษัตริย์ที่ครองเมืองพะเยา ซึ่งในช่วงที่พระองค์ครองราชย์ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข และได้ทรงร่วมกับพ่อขุนรามคำแหง มหาราช และพ่อขุนเม็งรายมหาราช สาบานเป็นพระสหายต่อกันที่เมืองพะเยา งานจัดขึ้นทุกวันที่ มีนาคม ที่บริเวณอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมืองสวนสมเด็จย่า 90 โดยมีพิธีบวงสรวงแบบพราหมณ์ มีขบวนสักการะเทิดพระเกียรติ และการ แสดงวัตนธรรมล้านนา
งานเทศกาลลิ้นจี่ และของดีเมืองพะเยา           จัดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ที่ตลาดกลางเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ อำเภอแม่ใจ ในงานมีมหรสพ การแสดง การประกวดธิดาชาวสวนลิ้นจี่ ประกวดลิ้นจี่พันธุ์ต่างๆ

อ้างอิง : http://www.baanjomyut.com/76province/north/prayao/costom.html

อาหารพื้นเมองพะเยา

ไข่ป่าม  อาหารพื้นบ้านภาคเหนือตี่ดูแสนธรรมดาแต่ขอบอกว่าแสนจะอร่อย "




ไข่ป่ามเป็นอาหารพื้นบ้านภาคเหนือทำจากไข่ไก่ปรุงรสนำมาใส่กระทงใบตองแล้วนำไปปิ้งไฟ ขอบอกเลยว่ารสชาติแสนอร่อยมีกลิ่นหอมของใบตองนิดๆ เพิมความอร่อยให้กับเมนูไข่    กรรมวิธีการทไข่ป่ามก็ง่ายและหลากหลายวันนี้พะเยา 108 ขอนำเสนอวิธีการทำ ไข่ป่าม ลองทำดูเลยครับ
วัตถุดิบและเครื่องปรุง
1. ไข่ไก่ หรือ ไข่เป็ด
2. กระเทียม
3. หอมแดงหั่น
4.  พริกสด (แล้วแต่ความชอบ)
5. ต้อหอมซอย
6. น้ำปลา ซิอิ้ว หรือเกลือปรุงรส (แล้วแต่ความชอบ)
วิธีการทำ 
1. โขลกพริก กระเทียม หอมแดง ให้ละเอียด (บางพื้นที่ใส่กระปิเล็กน้อย)
2. ตีไข่ใส่ในชาม
3. นำพริกกระเทียมหอมแดงที่โขลกให้ละเอียดตีรวมกับไข่ แล้วใส่หอมแดงกับต้นหอมซอยลงไป ปรุงรสด้วยน้ำปลา ซิอิ้ว หรือเกลือ
4. นำไข่ใส่ในกระทงใบตอง
5.นำไปย่างด้วยไฟอ่อนๆ จนไข่สุก
วิธีการทำไข่ป่ามในแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกันไป  บางพื้นที่ก็ไม่โขลกพริกกระเทียมแต่ใช้การซอยเป็นชิ้นเล็กๆ  บางพื้นที่ก็ใส่แต่ต้นหอมกับหัวหอมซอยแล้วปรุงรสด้วนเกลือ น้ำปลา หรือซิอิ้ว ก็แล้วแต่ความชอบและการประยุกต์ แต่ผมขอบอกว่าเสน่ห์ของไข่ป่ามคือกลิ่นหอมของใบตองเวลานำไปย่างไฟที่ซึมเข้าไปในเนื้อไข่ทำให้ไข่มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน
แต่สำหรับบางคนไม่สะดวกในการนำกระทงใบตองไปย่างไฟก็มีการประยุกต์ใช้กระทะทำกับข้าวนี่แหละครับโดยนำใบตองมาวางไวบนกระทะประมาณสามสี่ชั้นแล้วเทไขที่ปรุงรสแล้วลงไปย่างบนเตาแก๊สด้วยไฟอ่อนๆ หาฝาหม้อมาปิดทิ้งไว้ประมาณสิบห้านาทีไข่ก็สุกก็ถือว่าเป็นไข่ป่ามประยุกต์ อร่อยเหมือนกันครับ ถ้ามีเวลาว่างลองทำรับประทานดูนะครับเมนูพื้นบ้านภาคเหนือที่ไม่ยากแต่แสนจะอร่อยกับ ” ไข่ป่าม “

น้ำพริกอ่อง




น้ำพริกอ่องเป็นอาหารที่อยู่คู่กับวิถีของชาวเหนือมายาวนานเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีกรรมวิธีทำที่เรียบง่ายไม่ยุ่งยากแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ วันนี้พะเยา 108 ขอนำเสนอวิธีการทำน้ำพริกอ่องอาหารพื้นบ้านเมืองเหนือที่แสนจะอร่อย ลองทำน้ำพริกอ่องไปพร้อมๆ กับพะเยา108เลยนะครับ
วัตถุดิบในการปรุง
1.       พริกแห้ง
2.       กระเทียม
3.       หอมแดง
4.       กะปิ
5.       ถั่วเน่าแผ่นย่างไฟ (บางพื้นที่ก็ไม่ใส่)
6.       เกลือ
7.       มะเขือเทศ
8.       หมูสับ
9.       ผักชีหั่นฝอย
ขั้นตอนและวิธีการทำ
1.       โขลกพริกแห้ง กระเทียม หอมแดง กะปิ ถั่วเน่าแผ่นให้ละเอียด
2.       หั่นมะเขือเทศเป็นชิ้นแล้วนำไปโขลกรวมกับพริก กระเทียม หอมแดง กะปิ และถั่วเน่า
3.       ตั้งกระทะไฟอ่อนๆ ใส่น้ำมันเล็กน้อย นำพริกที่โขลกลงไปคั่วไฟให้หอม
4.       ใส่หมูสับลงไปคั่วตาม
5.       เติมน้ำลงไปเล็กน้อยพอขลุกขลิก
6.       ปรุงรสด้วยเกลือ
7.       เมื่อเนื้อหมูสุกใส่ผักชีลงไป แล้วตักยกเสิร์ฟ
กรรมวิธีในการทำน้ำพริกอ่องอาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างในพื้นที่ บางพื้นที่อาจจะใส่ไข่ไก่ลงไปคั่วด้วย บางพื้นที่ก็ไม่ใส่ถั่วเน่าแผ่น ก็แล้วแต่ความนิยม สำหรับเครื่องเคียงน้ำพริกอ่องนั้นนิยมรับประทานกับ แตงกวา ผักนึ่ง เห็ดนึ่ง และแคบหมู  น้ำพริกอ่องเมนูบ้านๆ ที่แสนจะอร่อยในวันนี้มีขั้นตอนและวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยากเลย วันนี้ลองไปเดินตลาดหาซื้อวัตถุดิบและเครื่องปรุงในการทำน้ำพริกอ่องและลองชักชวนสมาชิกในบ้านมาร่วมด้วยช่วยกันทำเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวนะคะ  และที่สำคัญ เมนูนี้ “ ลำขะหนาดจ้าว ”

แกงเห็ดถอบ




เมื่อย่างเข้าสู่หน้าฝน พืชพรรณต่างผลิดอกออกใบอาหารการกินตามฤดูกาลก็เริ่มมีให้เราได้ลิ้มลองรสชาติที่แสนจะโอชะที่นานทีปีหนถึงจะได้ทาน เห็ดถอบก็ถือเป็นอาหารตามฤดูกาลในหน้าฝนอีกเมนูหนึ่งที่ใครต่อใครหลายๆ คนต่างเสาะหามาทำอาหาร
เห็ดถอบหรือเห็ดเผาะ เป็นเห็ดพื้นบ้านที่มีอยู่ในบางพื้นที่โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือบริเวณ ที่เป็นป่าโปร่ง เห็ดเผาะชอบขึ้นตามพื้นดินที่อยู่ใต้โคนไม้ที่ถูกไฟเผา เช่น ไม้เต็ง ไม้พะยอม และมักชอบขึ้นในป่าโปร่ง ป่าแพะ เห็ดถอบมีลักษณะเป็นลูกกลมๆ ไม่มีลำต้น ไม่มีราก ชอบขึ้นตามดินร่วนที่ถูกไฟไหม้ เห็ดที่ยังอ่อนอยู่มีสีขาวนวล ส่วนเปลือกนอกรอบ ห่อหุ้มสปอร์สีขาวนวล เห็ดแก่เปลือกเป็นสีน้ำตาลถึงสีดำ ส่วนสปอร์ข้างในก็เป็นสีดำด้วยถ้าแก่มากๆ เปลือกเห็ดจะ แตกออกเป็นแฉกรูปดาวเห็นสปอร์ข้างใน การเลือกซื้อเห็ดถอบนั้นเห็ดต้องไม่แช่หรือล้างน้ำมา และที่สำคัญต้องเลือกซื้อเห็ดที่หนุ่มไม่แก่  ซึ่งเห็ดที่หนุ่มเนื้อด้านในจะเป็นสีขาวส่วนเห็ดที่แก่เนื้อด้านในจะเป็นสีดำ ถ้านำเห็ดแก่มาทำอาหารเนื้อจะเหนียวและไม่อร่อย เห็ดถอบสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูเช่น แกง ผัด
              สำหรับเมนูอาหารวันนี้พะเยา 108 ขอนำเสนอเมนูอาหารที่มีชื่อว่าแกงเห็ดถอบใส่ใบมะเม้า มาลองเข้าครัวเตรียมวัตถุดิบและลองทำไปพร้อมๆ กับพะเยา 108 นะครับ
วัตถุดิบและส่วนผสมในการทำแกงเห็ดถอบ
1.       เห็ดถอบ
2.       ใบมะเม้า (ถ้าไม่มีให้ใช้ดอกมะขามหรือยอดส้มป่อยหรือหาใบไม้ที่มีรสชาติเปรี้ยวมาแทนก็ได้)
3.       พริกแห้ง
4.       กระเทียม
5.       ปลาร้า
6.       กะปิ
7.       เกลือปรุงรส
วิธีการปรุง
1.       ล้างเห็ดถอบให้สะอาดถ้าเห็ดเม็ดใหญ่ให้ผ่าครึ่ง
2.       โขลก พริก กระเทียม ปลาร้า กะปิ รวมกันให้ละเอียด
3.       ตั้งน้ำให้เดือด
4.       ใส่พริกที่โขลกละเอียดลงไป
5.       รอน้ำเดือดแล้วใส่เห็ดลงไป
6.       เมื่อเห็ดใกล้สุกให้ใส่ใบมะเม้าลงไป (ใบมะเม้าจะทำให้เกิดรสเปรี้ยว)
7.       ปรุงรสด้วยเกลือ
8.       เมื่อสุกแล้วตักขึ้นพร้อมเสิร์ฟ
แกงเห็ดถอบเป็นอาหารตามฤดูกาลในหน้าฝนที่หลายคนต่างรอคอย อยากที่จะลิ้มลองรสชาติที่แสนอร่อยความหวานมันกรอบกุบกรับของเนื้อเห็ด ความเปรี้ยวเค็มมันของน้ำแกงช่างหอมหวนชวนชิม วันนี้ลองไปเดินตลาดหาซื้อเห็ดถอบมาทำรับประทานชวนพี่ชวนน้องในครอบครัวมานั่งล้อมวงรับประทานแกงเห็ดถอบกันนะครับ

ยำฮก




ยำฮก” (ยำรก) เมนูอาหารพื้นบ้านเมืองเหนือที่ทำให้หลายๆ คนน้ำลายสอและอยากที่จะลิ้มลองรสชาติอันแสนโอชะ เมื่อย้อนกลับไปสมัยก่อนกว่าจะได้กินฮกนั้นต้องรอให้วัวหรือควายที่เลี้ยงไว้เกิดลูก เมื่อวัวควายเกิดลูกเจ้าของที่เลี้ยงต้องไปนั่งเฝ้านั่งรอฮกตกออกมา บ้างก็ถือถังน้ำ ถ้วยโถกะละมังไว้รออย่างใจจดใจจ่อ ถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่ทันวัวควายที่เกิดลูก มันจะกินฮกของมันเองผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อตอนเป็นเด็กควายที่ป่ออุ้ยเลี้ยงไว้เกิดลูกป่ออุ้ยก็ให้ผมนั่งเฝ้ารอฮกออกแต่ด้วยความเป็นเด็กก็มัวแต่เล่นรู้ตัวอีกทีเจ้าทุยก็กินฮกของมันเกือบหมดต้องวิ่งเข้าไปแย่งได้มาเพียงน้อยนิด แต่ปัจจุบันตามท้องตลาดในบ้านเรามีฮกขายอยู่เกลื่อนทั่วไปบ้างก็เป็นฮกจากในพื้นถิ่นบ้านเรา แต่บางที่ก็เป็นฮกที่แช่แข็งมาจากแถวภาคกลางและภาคอีสานมีทั้งฮกเกิด(ฮกที่วัวควายเกิดลูกแล้วฮกออกมาตามธรรมชาติ) และมีทั้งฮกในท้อง(ฮกที่ได้มาจากการนำวัวควายที่มีลูกอยู่ในท้องแล้วนำไปเชือด) เมื่อได้ฮกมาแล้วโดยมากจะนำมาต้มให้สุกซึ่งสมัยก่อนนั้นพ่ออุ้ยแม่อุ้ยมักจะบอกว่าเวลาต้มให้ใส่ใบตะไคร้และใส่ใบบอนลงไปต้มด้วยต้มจนกว่าใบบอนจะเปื่อยยุ่ยถึงจะนำมาปรุงอาหารได้แต่ปัจจุบันก็เพียงแต่ต้มใส่ใบตะไคร้พอสุกก็นำมาปรุงเป็นอาหารแต่บางพื้นถิ่นก็นำไปนึ่ง สำหรับวันนี้พะเยา 108 ขอนำเสนอเมนูอาหารที่สุดแสนจะอร่อยเด็ดที่มีชื่อว่า “ยำฮก” ลองติดตามดูครับ
วัตถุดิบและเครื่องปรุง
1.       ฮกวัวหรือฮกควาย
2.       ตะไคร้
3.       พริกลาบ
4.       เกลือ
5.       ข้าวคั่ว
6.       ต้นหอมผักชี ผักไผ่ ใบสะระแหน่
วิธีการทำ
1.       ตังน้ำให้เดือดใส่ตะไคร้ทุบลงไป
2.       ใส้ฮกลงไปต้มประมาณ 30 นาที
3.       นำฮกมาหั่นเป็นชิ้นพอคำ
4.       นำฮกที่หั่นเป็นชิ้นใส่ลงไปในน้ำต้มตอนแรกตั้งไฟให้เดือดอีกครั้ง
5.       ใส่พริกลาบลงไป (ชอบเผ็ดก็ใส่มาก)
6.       ใส่ข้าวคั่วลงไป
7.       ปรุงรสด้วยเกลือ
8.       ใส่ต้นหอมผักชี ผักไผ่และใบสะระแหล่หั่นฝอยลงไป แล้วปิดไฟตักยกเสริฟ
วิธีการทำยำฮกที่แสนอร่อยนั้นมีวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยาก ส่วนรสชาตินั้นแสนจะอร่อยถูกใจลูกข้าวนึ่งเมืองเหนือรวมถึงอีกหลายๆ ท่านครับ ถ้ามีเวลาว่างลองทำรับประทานดูนะครับรับรองว่า “ ลำแต้ๆ ครับ ”

 อ้างอิง : http://www.phayao108.com/